วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2551

โครงการจัดการความรู้เรื่อง “การควบคุมโรคติดต่อในชุมชน”

โครงการจัดการความรู้เรื่อง “การควบคุมโรคติดต่อในชุมชน”
(Knowledge management for comunicable desease control)
อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 2550
---------------------------------------------------------------------------------------------
หลักการและเหตุผล
นับตั้งแต่การพัฒนาประเทศได้เริ่มดำเนินการที่เป็นรูปแบบที่ชัดเจน โดยเริ่มตั้งแต่การกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2504 จนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 การพัฒนาตามแผนฯดังกล่าวในอดีตที่ผ่านมา ภาครัฐส่วนมากจะเป็นผู้กำหนดทิศทางในพัฒนาตามความต้องการของตนเอง ทำให้ประชาชนส่วนมากไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนและชุมชนโดยเฉพาะโครงการต่าง ๆ ถูกกำหนดโดยภาครัฐ โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็น และความต้องการของคนในชุมชนเลย ทำให้โครงการหลาย ๆ โครงการที่ดำเนินการในชุมชนไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เกิดความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แม้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8-9 รัฐได้กำหนดวิสัยทัศน์ของการพัฒนาตามแผนดังกล่าว โดยเน้นคนเป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนา เพื่อเป็นการเปลี่ยนแนวทางและเป็นการรับฟังปัญหาตลอดจนความต้องการจากคนในชุมชนมากขึ้น เช่น การรณรงค์ให้จัดทำแผนแม่บทชุมชนขึ้นในจังหวัด การทำประชาคมของภาคส่วนราชการ ฯลฯ แต่ในลักษณะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นในทางปฏิบัติยังคงเหมือนเดิม
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 เป็นการพลิกผันของแนวทางการพัฒนาที่แต่ก่อนการพัฒนาเคยมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ วัดความเจริญหรือการพัฒนาประเทศกันที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประชาชาติ(GDP) มาเป็นการพัฒนาประเทศโดยการยึดหลักในการดำเนินงานแบบเศรษฐกิจพอเพียง คือส่งเสริมให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่เร่งรีบ แต่มั่นคง เน้นการมีความสุขของประชาชนคนในชาติ
การพัฒนาด้านสาธารณสุข ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานตามแผนพัฒนาดังกล่าวที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดมิติของการเข้าถึงประชาชน 4 ด้านคือ ด้านการรักษาพยาบาล ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ด้านการป้องกันโรค และด้านการฟื้นฟูสภาพ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน 2 ด้าน ด้านเชิงรุก และการตั้งรับ ทั้งยุทธศาสตร์ด้านเชิงรุกและรับ กระทรวงสาธารณสุขได้ปลูกฝังและสร้างทักษะให้เจ้าหน้าที่ ในการให้ความรู้ด้านสาธารณสุขในกิจกรรมต่าง ๆ แก่ประชาชนเป็นประจำ อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนปฏิบัติตัวและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ สู่การดำเนินชีวิตดี ปราศจากโรค
การให้ความรู้ดังกล่าวส่วนมากวิธีการและกระบวนการทำงานได้ถูกกำหนดโดยภาคราชการที่ระดับสูงขึ้นไป ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานก็ “รับลูก” มาใช้ในชุมชน ดำเนินการให้ความรู้แก่ประชาชนในเนื้อหาสาระ ตามที่ตัวเองได้รับการถ่ายทอดมาจาก สถาบันการศึกษาบ้าง จากการอบรมเพิ่มเติมบ้าง กล่าวคือ เป็นความรู้ที่ได้จากการศึกษา ตำรา (Explicit knowledge) โดยลืมความรู้ที่ส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนที่มีอยู่ในตัวคนและชุมชนและที่ได้สั่งสมสืบทอด ต่อ ๆ กันมา นั่นคือความรู้ที่เป็น ภูมิปัญญา(Wisdom) ความรู้ที่ซ่อนเร้นหรือความรู้แอบแฝงในตัวคน(Implicit knowledge) หรือแม้แต่ ความรู้ที่ฝังลึก (Tacit knowledge) แต่มีข้อจำกัดอยู่ที่เราสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ได้อย่างไร
ดังนั้นในมิติของกระบวนการให้ความรู้หรือ การเรียนรู้ เพื่อ เป็นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในระดับชุมชน การจัดการความรู้(Knowledge management) เป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่นำมาใช้ได้เป็นอย่างดี โดยการจัดการทั้ง ความรู้ทั้งที่ได้จากการเรียน การศึกษา และความรู้ที่ซ่อนเร้นและฝังลึกอยู่ในตัวบุคคลและชุมชน(Implicit knowledge) หรือ ความรู้ที่ฝังลึก (Tacit knowledge) มาจัดการถอดรหัสภูมิปัญญาที่มีอยู่ ผสานกับความรู้ที่เห็นเด่นชัด(Explicit knowledge) (Knowledge sharing)แล้วนำมาจัดเป็นขั้นตอนกระบวนการเป็นคลังแห่งความรู้(Knowledge Assets)ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ(ICT) เกิดเป็นเครื่องมือที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทรงพลัง
การควบคุมโรคในชุมชนโดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โดยเฉพาะอำเภอพระพรหม เป็นอำเภอที่ทุกปี ๆ โรคไข้เลือดออกระบาดควบคู่ไปกับอำเภอเมือง ปี 2548 เกือบทุกหมู่บ้านประชากรป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก กว่าจะมีการควบคุมได้สำเร็จก็เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ประการที่สำคัญคือ ประชาชนขาดความรู้ ความตระหนักในการป้องกันโรคไข้เลือดออก การให้ความรู้ก็เป็นเพียงเสียงตามสาย หอกระจายข่าว หรือ รถประชาสัมพันธ์ ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม ปัญหาไม่ได้ถูกกำหนดมาจากชุมชน ทิศทางความต้องการเกิดจากการความต้องการของเจ้าหน้าที่ ความรู้ที่ซ่อนเร้น ความรู้ที่ฝังลึกไม่ได้นำมาใช้ เกิดการะบาดของโรคไข้เลือดออกซ้ำซาก
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพระพรหมจึงจัดทำโครงการ การจัดการความรู้ในการควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยการผสานความร่วมมือ การจัดการความรู้ผสมผสานกันทุกภาคส่วน มาเป็นแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่ถอดเป็นองค์นำมาปฏิบัติต่อเนื่องสืบไป

วัตถุประสงค์
1. เพื่อ จัดทำ รูปแบบ กระบวน การศึกษาเรียนรู้ของชุมชนเกี่ยวกับ การควบคุมโรคไข้เลือดออก ในอำเภอพระพรหม ในรูปของการจัดการความรู้
2. เพื่อนำความรู้ และแนวทางการดำเนินงาน การควบคุมโรคไข้เลือดออกมาใช้ในการควบคุมโรคไข้เลือดออก ของอำเภอพระพรหม
3. เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนเกิดการ “ ร่วมคิด ร่วมทำ” รวมทั้งการดึงขุมความรู้ ภูมิปัญญามาสู่การปฏิบัติ
4. เพื่อสนับสนุนให้เกิด “ชุมชนเข้มแข็ง” ด้านการควบคุมโรค

เป้าหมายการดำเนินงาน
- เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทุก สถานีอนามัย รวม 30 คน
- ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำสถานีอนามัย ๆ ละ 2 คน รวม 12 คน
รวม 42 คน
ขั้นตอน/วิธีการดำเนินงาน
โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการแก่กลุ่มป้าหมาย ในกระบวนการจัดการความรู้ “การควบคุมโรคในชุมชน”
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนการกำหนด เป้าหมาย กำหนดวิสัยทัศน์ร่วม( Knowledge Vison )
- โดยการอบรมทบทวนกลุ่มเป้าหมายทุกคนให้ทราบถึงนโยบาย ทิศทาง การดำเนินงาน เรื่อง การควบคุม โรคในชุมชน ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด อำเภอและหมู่บ้านที่ตนเองอาศัยอยู่
- ศึกษาดูงานการดำเนินงานควบคุมโรคที่ประสบความสำเร็จ(Best practice)

ขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Know shairing, Shair and learn ) เรื่อง การควบคุมโรคในชุมชน ของอำเภอพระพรหม
- จัดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทุกตำบล ตำบล ละ 1 ครั้ง
- จดบันทึก สิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำเวที
ขั้นตอนที่ 3. ขั้นตอนการ สังเคราะห์องค์ความรู้เป็นคลังความรู้ “เรื่องการป้องกันโรคในชุมชน” อำเภอพระพรหม (Knowledge Assets)เป็นคู่มือพร้อมใช้หรือ ถ่ายทอด
- การออกแบบโครงสร้างในการดำเนินงานแต่ละเนื้อหา
- การ Update ปรับแต่งเนื้อหาให้ทันสมัยเหมาะสมกับการนำมาใช้ในพื้นที่
- การนำเทคโนโลยี/ภูมิปัญญา มาผนวกใช้ในการดำเนินงาน

ระยะเวลาดำเนินการ มกราคม 2551
- อบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 3 วัน

สถานที่ ณ หาดเขาพลายดำ ตำบลท้องทุ่งใส อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช(อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม)

งบประมาณ
งบประมาณจากเครือข่ายบริการสุขภาพ โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ งบ PP.com ปี 2550 เป็นเงิน 106,000 บาท(หนึ่งแสนหกพันบาทถ้วน) สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายดังนี้

กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ
- ค่าที่พักสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 21 ห้อง ๆ ละ 500 บาท จำนวน 2 คืน
เป็นเงิน 21,000 บาท
- ค่าอาหารและอาหารว่าง ของกลุ่มป้าหมายจำนวน 42 คน วันละ 500 บาท/คน/วัน
จำนวน 3 วัน เป็นเงิน 63,000 บาท
- ค่าเช่าเหมารถยนต์ สำหรับคณะ จำนวน 3 วัน ๆ ละ 7,000 บาท/วัน เป็นเงิน 21,000 บาท
- ค่าวัสดุในการอบรม เป็นเงิน 1,000 บาท(หมายเหตุ งบประมาณถัวเฉลี่ยทุกรายการ)

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.ชุมชนในอำเภอพระพรหม ได้จัดทำ รูปแบบ กระบวน การศึกษาเรียนรู้ของชุมชนเกี่ยวกับ การควบคุมโรคในชุมชน ในรูปของการจัดการความรู้
2.ชุมชนตลอดจนผู้เกี่ยวข้องนำความรู้ และแนวทางการดำเนินงาน การควบคุมโรคในชุมชนมาใช้ในอำเภอพระพรหม
3.ชุมชนเกิดการ “ ร่วมคิด ร่วมทำ” รวมทั้งการดึงขุมความรู้ ภูมิปัญญามาสู่การปฏิบัติ
4.เกิด “ชุมชนเข้มแข็ง” ด้านการควบคุมโรคในอำเภอพระพรหม

การประเมินผล
1. โดยการสังเกตจากผู้เข้าร่วมโครงการฯ ความตั้งใจ ให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน
2. โดยสรุปจากรายงานการประชุมวิชาการและการศึกษาดูงานจากกลุ่ม

ไม่มีความคิดเห็น: